งานมาตรฐานฮาลาล

Codex Alimentarius

มาจากภาษาลาติน ซึ่งมีความหมายว่า Food Code หรือ Food Law ดังนั้นจึงมักเรียกมาตรฐานของโครงการดังกล่าวในนามของมาตรฐาน Codex


Codex Alimentarius Commission (CAC)

จัดตั้งขึ้นในปี 2505 ตั้งแต่ปี 2506 CAC ได้รับผิดชอบการดำเนินงานของโครงการมาตรฐานอาหาร เอฟ เอ โอ/ดับบลิว เอช โอ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคและเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการค้าระหว่างประเทศ CAC เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่เป็นองค์กรของรัฐ จากการประชุมรอบ  อุรุกวัยของ Multilateral Trade Negotiation ที่สิ้นสุดเมื่อปี 2537 นั้น ในข้อตกลง Marrakech ให้ตั้งองค์การค้าโลก หรือ World Trade Organization (WTO) ขึ้นแทนข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าหรือ General Agreement on Tariff and Trade (GATT) ซึ่งการประชุมในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการค้าเสรีของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่อยู่เหนือข้อตกลงในครั้งก่อน ซึ่งข้อตกลงภายใต้ WTO ที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน Codex มีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อ คือ

1. ความตกลงว่าด้วยการประยุกต์ใช้มาตรการ สุขอนามัยและสุขอนามัยพืช

ความตกลงว่าด้วยการประยุกต์ใช้มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (The Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหารโดยกำหนดขอบเขตของการทำงานเพื่อให้ประเทศสมาชิก  นำไปจัดทำให้สอดคล้องกับมาตรการนี้ มาตรการ SPS จะต้องอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์และมีการนำไปใช้อย่างเท่าเทียมกันและโปร่งใส รวมทั้งไม่อาจใช้เป็นข้อกีดกันที่ไม่เป็นธรรมทางการค้า

2. ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า

ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (The Agreement on the Technical Barriers to Trade: TBT, 1994) มีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการใช้ข้อกำหนดทางเทคนิคระดับชาติหรือระดับภูมิภาค หรือมาตรฐานทั่วไปเพื่อเป็นสิ่งกีดกันทางเทคนิคที่ไม่เป็นธรรมต่อการค้า  ข้อตกลงจะครอบคลุมมาตรฐานทุกชนิด รวมทั้งข้อกำหนดทางคุณภาพของอาหาร ยกเว้นความต้องการที่เกี่ยวข้องกับมาตรการ SPS และจะรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นเพื่อปกป้องผู้บริโภคจากการหลอกหลวงในเชิงเศรษฐศาสตร์ซึ่งประเทศสมาชิกของ WTO ทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญ และปฏิบัติตามมาตรการ SPS และ TBT โดยในความตกลง SPS ขององค์การการค้าโลก ได้กำหนดให้ใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารของ Codex เป็นมาตรฐานอ้างอิง ในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งในการค้าระหว่างประเทศ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของอาหารนั้น ได้แก่ มาตรฐานเรื่องวัตถุเจือปนอาหาร ยาสัตว์ สารพิษตกค้างในอาหาร สารปนเปื้อน วิธีวิเคราะห์และชักตัวอย่าง และข้อแนะนำในการปฏิบัติด้านสุขลักษณะอาหาร เป็นต้น

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาการจัดทำมาตรฐานฮาลาลอาเซียน

พ.ศ. 2524 ประเทศมาเลเซียนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์กลุ่มเอเชีย (CCASIA) ครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย ให้กำหนดฉลากหรือเครื่องหมาย ที่จะใช้กับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่จัดเตรียมตามหลักการศาสนาอิสลาม

พ.ศ. 2536 ประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโคเด็กซ์กลุ่มเอเชีย  ครั้งที่ 8 ผู้แทนมาเลเซียขอให้มีการจัดทำแนวทางในการแสดงฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารตามข้อกำหนดของศาสนาอิสลาม (Labelling of Food with Regard to Religious Requirements)

พ.ศ. 2539 การประชุมของ SOM-AMAF ณ ประเทศสิงคโปร์เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2539 ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วย การร่างแนวทางอาหารฮาลาลของอาเซียนขึ้น เรียกชื่อว่า ASEAN Adhoc Working Group on Halal Food Guidelines และเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน การประชุมของคณะทำงานเฉพาะกิจที่เรียกกันว่า คณะทำงานฮาลาลอาเซียน? ได้ประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย   หน่วยงานที่เป็นตัวแทนของประเทศไทยในคณะกรรมการดังกล่าวคือ กองปศุสัตว์สาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การประชุมครั้งแรกนี้ ร่างแนวทางฮาลาลที่อาเซียนนำเข้าพิจารณาในการประชุมครั้งแรกนี้นำเสนอโดยประเทศมาเลเซีย จัดทำร่างโดยหน่วยงานเดียวกับที่ทำร่างนำเสนอในการประชุมโคเด็กซ์ (ดูเรื่องมาตรฐานฮาลาลโคเด็กซ์บทที่ 4)

พ.ศ.2540 การประชุมคณะทำงานฮาลาลอาเซียนครั้งที่ 2 ในเดือนเมษายน ที่กรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากสำนักจุฬาราชมนตรีเข้าร่วมในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ร่วมกับตัวแทนจากกรมปศุสัตว์

พ.ศ.2540 การประชุมคณะทำงานฮาลาลอาเซียนครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯในเดือนพฤศจิกายน เป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนของประเทศไทยร่วมกับตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ ผู้เขียนเข้าร่วมประชุมในฐานะตัวแทนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมมีมติรับร่างสุดท้ายว่าด้วยแนวทางทั่วไปของอาเซียนว่าด้วยการเตรียมและการปฏิบัติต่างๆต่ออาหารฮาลาล (ดูรายละเอียดของร่างนี้ท้ายบท)

พ.ศ.2541 การประชุมคณะทำงานฮาลาลอาเซียนครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ เดือนเมษายน ที่ประชุมมีมติรับรองตรา “ฮาลาลอาเซียน” ชั่วคราวเป็นรูปเครื่องหมายมัดหวายของอาเซียนวางคู่กับตราฮาลาลของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตามแนวทางนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้


รายละเอียดของมาตรฐานฮาลาลอาเซียน

รายละเอียดที่อ้างถึงดังต่อไปนี้ แปลจากร่างสุดท้ายของคณะทำงานเฉพาะกิจของอาเซียนว่าด้วยแนวทางอาหารฮาลาลอันเป็นผลจากการประชุม The Third Meeting of Ad-Hoc Working Group on ASEAN Halal Food Guidelines ระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 ณ กรุงเทพมหานคร ร่างดังกล่าวยังไม่มีผลในทางปฏิบัติและการแปลนี้ทำขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ แต่ทำขึ้นเพื่อให้ผู้ผลิตสินค้าฮาลาลได้เข้าใจแนวทางการดำเนินงานด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารฮาลาลในกลุ่มประเทศอาเซียนและทั่วโลกในอนาคต

แนวทางทั่วไปของอาเซียน

ว่าด้วยการเตรียมและการปฏิบัติต่างๆ ต่ออาหารฮาลาล

1. วัตถุประสงค์

เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานเตรียมอาหารฮาลาลให้แก่ภาคอุตสาหกรรมอาหารและช่วยตระเตรียมสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานเพื่อใช้  ในการรับรองอาหารฮาลาลเพื่อการค้าระหว่างกันในกลุ่มประชาชาติอาเซียน

2. กรอบการดำเนินงาน

  1. แนวทางที่จัดทำขึ้นนี้จะใช้ร่วมกับแนวทางการจัดเตรียมอาหาร ดังเช่น การปฏิบัติเพื่อการผลิตที่ดี ถูกต้องตามหลักอนามัยและสุขาภิบาล
  2. นำไปประยุกต์ใช้กับการใช้คำ “ฮาลาล” ที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ด้านศาสนาในแต่ละประเทศผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านการรับรอง ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลที่จะจัดจำหน่ายในกลุ่มประเทศอาเซียน

3. นิยามด้านนิติศาสตร์อิสลามว่าด้วยอาหารที่อนุมัติ (ฮาลาล) และไม่อนุมัติ

  1. นิติศาสตร์อิสลาม (Shariah Law) หมายถึงกฎหมายอิสลามตามที่ระบุไว้ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน อัลหะดิษ (สิ่งที่ศาสดามุฮำมัด (ซอลฯ) ได้ปฏิบัติและกล่าวไว้) อิจมะห์ (มติเอกฉันท์ของผู้รู้ในศาสนา)[1][1] และกิยาส (สิ่งที่เปรียบเทียบ)[2][2] ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันตามแนวทางในมัซฮับชาฟิอีหรือฮานาฟีหรือมาลิกีหรือฮามบาลีขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศที่จะนำแนวทางนี้ไปใช้ปฏิบัติว่ายึดถือในแนวทางใด
  2. คำจำกัดความของอาหารที่อนุมัติ (ฮาลาล)
    อาหารอนุมัติ (ฮาลาล) หรืออาหารมุสลิม หรืออาหารที่ระบุว่าฮาลาล หรือด้วยถ้อยคำ หรือสิ่งอื่นที่แสดงว่ามีความหมายเช่นเดียวกันสามารถที่จะให้คำจำกัดความดังต่อไปนี้
    (ก) อาหารหรือองค์ประกอบของอาหารนั้น ไม่มีสิ่งใดหรือผลิตภัณฑ์ใดที่มาจากสัตว์ ซึ่งในทางนิติศาสตร์อิสลามไม่อนุมัติให้เป็นอาหารแก่มุสลิม หรือเป็นสัตว์ที่ไม่ถูกเชือดแบบหลักการอิสลาม
    (ข) อาหารที่ไม่มีองค์ประกอบใดที่เมื่อพิจารณาแล้วพบว่าเป็น“นะยิส” ตามที่ระบุไว้ในทางนิติศาสตร์อิสลาม
    (ค) จะต้องไม่ปรุง หรือผ่านกระบวนการหรือผลิตโดยการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งที่ถือว่าเป็นนะยิสตามนิติศาสตร์อิสลามในระหว่างการปรุง การผ่านกระบวนการ การเก็บหรือการขนส่ง อาหารเหล่านั้นจะต้องแยกจากกันอย่างเด็ดขาดจากอาหารอื่นๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติตามข้อ (ก), (ข) และ (ค) ข้างต้น หรือจากสิ่งอื่นที่พิจารณาได้ว่าเป็นนะยิสตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม

4. นะยิสตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม

นะยิสตามหลักนิติศาสตร์อิสลามหมายถึง
(ก) สิ่งที่ตัวมันเองมีความสกปรก (ตามที่อิสลามกำหนด) และไม่สามารถทำความสะอาดได้ดังเช่น สุกร เลือดและซากสัตว์
(ข) อาหารที่อนุมัติตามหลักการอิสลามที่ปนเปื้อนด้วยสิ่งสกปรกตามที่อิสลามกำหนด
(ค) อาหารอนุมัติที่สัมผัสกับสิ่งสกปรก คำว่าสิ่งสกปรกนี้ให้เป็นไปตามที่นิติศาสตร์อิสลามกำหนดไว้

5. แหล่งที่มาของอาหารและเครื่องดื่มฮาลาล

  1. สัตว์ : สัตว์สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภท
    1. สัตว์บก : สัตว์บกทุกชนิดถือว่าเป็นที่อนุมัติให้เป็นอาหารได้ยกเว้นสิ่งดังต่อไปนี้
      (ก) สัตว์ที่ไม่ได้เชือดตามหลักนิติศาสตร์อิสลาม
      (ข) สุกร
      (ค) สุนัข
      (ง) สัตว์ที่มีเขี้ยวแหลมคม (เขี้ยวอย่างสุนัขหรือเงี้ยวเป็นงายาว) ซึ่งใช้ในการฆ่าเหยื่อ เช่น เสือ สิงโต หมี ช้าง แมว และลิง
      (จ) นกที่มีกรงเล็บหรือนกล่าเหยื่อ
      (ฉ) สัตว์ที่อิสลามอนุญาตให้ฆ่า ได้แก่ หนู แมลงป่อง งู กา ฯลฯ
      (ช) สัตว์สกปรกต่อสาธารณะชน เช่น หมัด โลน แมลงวัน
      (ซ) สัตว์ที่อาศัยทั้งบนบกและในน้ำ (สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ) เช่น จระเข้ เต่า
    2. สัตว์น้ำ : สัตว์น้ำหมายถึงสัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำและไม่สามารถอยู่รอดได้หากปราศจากน้ำ ดังเช่น ปลา สัตว์น้ำทุกชนิดถือว่าเป็นที่อนุมัติในอิสลามยกเว้นแต่สัตว์ที่มีพิษ เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  2. พืช : พืชและผลิตภัณฑ์พืชทุกชนิดถือว่าฮาลาลยกเว้นแต่พืชที่มีพิษ เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  3. เครื่องดื่ม : น้ำและเครื่องดื่มทุกชนิดเป็นที่อนุมัติยกเว้นแต่สิ่งที่มีพิษ เป็นพิษ หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งที่ผสมเข้ากับนะยิส
  4. สิ่งที่กล่าวถึงใน 5.1.2 และ 5.2 ผลิตภัณฑ์จากพืชหรือสัตว์น้ำที่เป็นอันตรายหากทำการถอนพิษหรือสิ่งที่เป็นอันตรายออกระหว่างการปรุงหรือเตรียม (กระทั่งหมดความเป็นพิษ) ให้ถือว่าฮาลาล

6. การเชือดสัตว์

  1. การเชือดสัตว์ที่อนุมัติควรแยกอย่างเด็ดขาดออกจากสัตว์ที่ไม่อนุมัติตามหลักเกณฑ์ที่จะกล่าวถึงดังต่อไปนี้
    (ก) การเชือดควรกระทำโดยมุสลิมผู้ศรัทธา ซึ่งมีความเข้าใจในกฏเกณฑ์และเงื่อนไขของการเชือดสัตว์ตามหลักการอิสลาม
    (ข) สัตว์ที่จะทำการเชือดจะต้องเป็นสัตว์ที่อนุมัติให้ใช้เป็นอาหารได้ตามที่อิสลามกำหนด
    (ค) สัตว์จะต้องมีชีวิตสมบูรณ์ (ก่อนทำการเชือด)
    (ง) การเชือดควรจะตัดหลอดลม หลอดอาหาร เส้นเลือดแดงใหญ่ และเส้นเลือดดำบริเวณลำคอ
    (จ) ต้องอ่านคำว่า “บิสมิลลา” ขณะทำการเชือด
    (ฉ) เครื่องมือหรือมีดที่ใช้เชือดจะต้องคมและไม่ควรยกขึ้นขณะทำการเชือด
  2. การทำให้สัตว์สลบหรือหมดสติ (stunning) จะต้องเป็นไปตามที่กำหนด
  3. การเชือดสัตว์ปีกโดยใช้เครื่องเชือดกลจะต้องเป็นไปตามที่กำหนด

7. การเก็บผลิตภัณฑ์ การจัดวางและการให้บริการ

ผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่เก็บ จัดวาง ขายหรือให้บริการควรจะแยกหรือควรจะติดฉลากฮาลาลหรือเป็นที่อนุมัติในทุกขั้นตอนทั้งนี้เพื่อป้องกันการปะปนหรือปนเปื้อนจากสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์หรือสิ่งต้องห้ามในอิสลาม

8. กระบวนการผลิตและการดำเนินงาน

อาหารผ่านกระบวนการจะฮาลาลได้ต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(ก) ผลิตภัณฑ์หรือองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ไม่มีองค์ประกอบหรือผลิตภัณฑ์ของสัตว์ที่เป็นที่อนุมัติตามหลักการอิสลามหรือสัตว์อนุมัติที่ไม่เชือดตามหลักการอิสลาม
(ข) ผลิตภัณฑ์ต้องไม่มีสิ่งที่เป็นนะยิสตามหลักการอิสลามปนเปื้อนไม่ว่ามากหรือน้อยก็ตาม
(ค) ผลิตภัณฑ์จะต้องเตรียม ผ่านกระบวนการหรือผ่านการผลิตโดยใช้ อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ สถานที่ที่ปราศจากการปนเปื้อนด้วยนะยิส
(ง) ระหว่างขั้นตอนการเตรียมการผ่านกระบวนการ การเก็บหรือการขนส่ง จะต้องแยกกันอย่างเด็ดขาดจากอาหารที่ไม่ไปเป็นไปตามเงื่อนไขในข้อ (ก) (ข) และ/หรือ (ค) หรือสิ่งอื่นๆที่หลักการอิสลามถือว่าเป็น นะยิส

9. อนามัยและสุขาภิบาล

  1. มีการย้ำเรื่องอนามัยอย่างมากในอิสลามซึ่งในที่นี้รวมความถึงสภาวะต่างๆของอนามัย ส่วนบุคคล อนามัยของผ้าที่ใช้ เครื่องมือ และสถานที่ทำงานที่ใช้ในการประกอบการผลิตอาหาร วัตถุประสงค์ก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอาหารที่ผลิตออกมานั้นสะอาด ถูกอนามัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
  2. อนามัยสามารถนิยามได้ว่าปราศจากนะยิส สิ่งปนเปื้อน และเชื้อโรค  ที่เป็นอันตราย
  3. อาหารทุกชนิดควรเตรียม ปรุง ผ่านกระบวนการ บรรจุ ขนส่ง และเก็บให้เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนดเกี่ยวกับเรื่องอนามัยและสุขภิบาลของในแต่ละประเทศสมาชิกและตามกฏระเบียบทั่วไปของโคเด็กซ์ว่าด้วยอนามัยอาหารและตามมาตรฐานโคเด็กซ์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง

10. การดัดแปลงแก้ไขแนวทาง

ตามแนวทางที่กำหนดข้างต้นทั้งหมด ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศอาจจะติดต่อระหว่างกันเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหาบางประการจำเพาะเจาะจงไปได้
การปรัปปรุงและทบทวนแนวทางข้างต้นจะทำเป็นระยะตามที่เห็นสมควร

Message us