งานบริการวิชาการและวิจัย

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นการพัฒนาและวิจัยสู่นวัตกรรม เริ่มต้นจากการพัฒนาเทคนิควิเคราะห์หาชนิดไขมันสัตว์ ได้รับการสนับสนุน งบประมาณวิจัยจากสำนักงบประมาณ ปี พ.ศ.2543 ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในหลายโครงการ

ทำไมต้องสร้างงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล?

  • วิเคราะห์ความซับซ้อนของวัตถุดิบและกระบวนการผลิตอาหาร
  • คุ้มครองผู้บริโภคมุสลิมและมิใช่มุสลิม
  • เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ฮาลาลประเทศไทย
  • ใช้วิทยาศาสตร์ฮาลาลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • สรรสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับในสังคมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ วิจัยด้านใดบ้าง?

การปนเปื้อนในอาหารฮาลาล

  • พัฒนาเทคนิคการตรวจวิเคราะห์หาสิ่งปนเปื้อนหะรอมในผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล
    – เทคนิคทางชีวโมเลกุล: Multiplex real-time PCR, DNA sequencing; PGM)
    – เทคนิคทางเคมี: 1) เจลาติน; LC-MS/MS, 2) ไขมัน (ฟอสโฟลิปิด); LC-QTOF
  • พัฒนาหาสารทดแทนต่างๆที่ให้คุณค่าและประโยชน์ทางอาหารและยา เช่น สารออกฤทธิ์ในพืชท้องถิ่นมลายู พืชในทางความเชื่อศาสนาอิสลาม

ขอบข่ายที่ไม่ใช่อาหาร

  • เครื่องสำอาง *พัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์เครื่อง สำอางฮาลาล
  • ผลิตนวัตกรรมด้านฮาลาลด้วยนาโนเทคโนโลยี

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ มีผลงานบริการวิชาการ ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลอะไรบ้าง?

H-Numbers

เอกสารมาตรฐานในการอ้างอิงสำหรับการ   คัดสรรวัตถุดิบเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลและเพิ่มความปลอดภัยอาหารทางด้านวัตถุดิบฮาลาลให้ถูกต้องตามศาสนบัญญัติอิสลาม

ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดผสมดินขาว (คาโอลิน) และน้ำมันเมล็ดเทียนดำ

ผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดผสมดินขาว (คาโอลิน) และน้ำมันเมล็ดเทียนดำ มีส่วนประกอบสำคัญเป็นดินขาวช่วยในการป้องกันแสงแดดและเมล็ดเทียนดำช่วยในการต้านจุลชีพ มีค่าความเป็น กรด – ด่างอยู่ระหว่าง 7.5 – 8.5 สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดได้ถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดทั่วไป  และสามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ สำหรับใช้ทาบริเวณลำคอ ผิวหน้า และอื่นๆตามต้องการก่อนออกแดดอย่างน้อย 15 นาที และทาซ้ำทุกๆ 2-3 ชั่วโมง

ผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาสิวผสมแร่ดิน (คาโอลิน ,เบนโทไนท์) และน้ำมันเมล็ดเทียนดำ

ผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาสิวผสมแร่ดิน (คาโอลิน ,เบนโทไนท์) และน้ำมันเมล็ดเทียนดำ ที่มีคุณสมบัติในการควบคุมความมันของผิวหน้าและสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย P. acnes ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดสิว โดยมีค่าความเป็น กรด-ด่างอยู่ระหว่าง 4.5 – 7.5 สามารถซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย ไม่เหนียวเหนอะหนะ

ผลิตภัณฑ์สบู่ดินสำหรับชำระล้างสิ่งสกปรกตามหลักศาสนาอิสลาม (นญิส)

เป็นสบู่เหลว  โดยมีส่วนประกอบหลักเป็นดินขาวจากธรรมชาติ (Hydrated aluminium silicate) ไม่มีสี กลิ่น มีค่าความเป็นกรด-ด่าง 5.5-6.5 เพื่อใช้ชำระล้างหรือทำความสะอาดอุปกรณ์การผลิตและเครื่องจักรให้สะอาดถูกต้องตามหลักการศาสนา โดยผ่านการยอมรับและตัดสิน (Fatwa) จากคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านศาสนาอิสลามประเทศไทย


ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรม
ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ

วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2561 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ทำพิธีเปิดห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์  ที่ชื่อว่า “ห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาล ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ” (Tan Sri Dr.Surin Pitsuwan Research and Innovation Halal Science Laboratory) เพื่อรำลึกถึง ดร.สุรินทร์  พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลนี้เรียกกันสั้นๆว่า PS Halal Lab ตั้งอยู่บนชั้น 13 ของอาคารวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถนนจุฬาลงกรณ์ 12 ติดกับอาคารสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ไม่ไกลจากอาคารสำนักงานอธิการบดีนัก ที่อาคารวิจัยที่ว่านี้ ศวฮ.มีที่ทำการอยู่บนชั้น 11, 12, 13 โดยมีพื้นที่ใช้สอยรวม 3,000 ตารางเมตรจากทั้งหมด 4,400 ตารางเมตรที่ ศวฮ.ครอบครองอยู่ ส่วนของ PS Halal Lab ตั้งอยู่บนชั้นที่ 13 ของอาคารมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 400 ตารางเมตร ภายในประกอบด้วยห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีโภชนาการ ห้องปฏิบัติการวิจัยนาโนวิทยาและคอสเมติกส์ และห้องปฏิบัติการวิจัยชีววิทยาโมเลกุล

เหตุที่ชื่อห้องปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นงานสำคัญของ ศวฮ.ตั้งตามชื่อ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เนื่องจากก่อนการจากไป ท่านเป็นกรรมการที่ปรึกษาของ ศวฮ.มาเนิ่นนานหลายปี ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ศวฮ.มาตั้งแต่ก่อน การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลและห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 ซึ่งศูนย์ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ว่านี้เองได้พัฒนางานก้าวหน้ากระทั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดตั้งเป็น ศวฮ.ตอนปลาย พ.ศ.2547

โครงการเมื่อเขียนขึ้นแล้วถูกโอนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแห่งชาติ ที่มีอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธาน กระทั่งได้รับงบประมาณสนับสนุนตามมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2546 กำเนิดเป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลในคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนยกระดับขึ้นเป็น ศวฮ.ภายใต้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในที่สุด ใน พ.ศ. ศวฮ.จัดตั้งห้องปฏิบัติการชีววิทยาโมเลกุล วันมูหะมัดนอร์ มะทา เพื่อรำลึกถึงพระคุณของท่านอาจารย์วันนอร์ มาปีนี้ ศวฮ.จัดตั้งอีกหนึ่งห้องปฏิบัติการตั้งชื่อว่า ตันสรี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ศวฮ.จึงเป็นเสมือนจุดเชื่อมผู้ใหญ่มุสลิมที่เป็นที่เคารพสองท่าน ช่างน่าภูมิใจ

ความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ กับ ศวฮ.เริ่มต้นจริงจังตอนปลาย พ.ศ.2542 เมื่อครั้งท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในเวลานั้นโดยท่านกรุณาเขียนคำนิยมให้กับหนังสือ Halal-HACCP ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกไม่เพียงเขียนคำนิยม ท่านยังแนะนำให้พวกเราเขียนโครงการขอรับงบประมาณสนับสนุนการจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากรัฐบาลซึ่งท่านเห็นว่ามีความจำเป็นต่อการพัฒนางานด้านฮาลาลซึ่งเป็นรายได้สำคัญของประเทศไทย


1. ห้องปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีโภชนาการ

ห้องปฏิบัติการวิจัยที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคนิคตรวจสอบหา
เครื่องแยกสารด้วยของเหลวประสิทธิภาพสูง พร้อมตัวตรวจมวลโมเลกุลของสาร(LC-MS/Q-TOF)

สามารถใช้ในการวิเคราะห์สารตัวอย่างที่มีปริมาณต่ำมากๆ และทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิค Q-TOF mass spectrometry (MS) ซึ่งเป็นเทคนิคการแยกไอออนทั้งหลายออกจากกันตามค่ามวลต่อประจุ (mass-to-charge ratio หรือ m/z) ของไอออนแต่ละชนิด จากนั้นไอออนซึ่งผ่านการแยกมวลแล้ว จะถูกส่งผ่าน เข้าไปสู่ส่วนตรวจวัด (detector)ซึ่งส่วนนี้จะทำหน้าที่ตรวจวัดปริมาณของไอออนแต่ละชนิด    ที่ผ่านเข้ามาทำการประมวลผลและแสดงข้อมูลออกมาในรูปของmass spectrum ซึ่งเป็น กราฟที่แสดงปริมาณของไอออนเหล่านี้ต่อค่ามวลต่อประจุของไอออน(m/z)แต่ละชนิดนั้นๆ 

ใช้ในงานวิจัย เช่น งานวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารและงานทางด้านเคมี  งานวิเคราะห์หาชนิดของโปรตีน การวิเคราะห์หาโพลีเปปไทด์ในเชิงคุณภาพ  งานทางด้านตัวบ่งชี้ทางโรคทางด้านการแพทย์ งานวิเคราะห์ตัวยาทางด้านเภสัชวิทยา  เป็นต้น


2. ห้องปฏิบัติการวิจัยนาโนวิทยาและคอสเมติกส์

เป็นห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ประกอบไปด้วยสองส่วนคือวิจัยนาโนวิทยาซึ่งค้นคว้าวิจัยเกี่ยวด้านอนุภาคนาโนโดยมีเครื่องมือที่ทันสมัยในการตรวจวิเคราะห์ ได้แก่

เครื่อง Scanning Electron Mocroscopy (SEM) ซึ่งเป็นกล้องจุลทรรศน์ในการที่ใช้ลำอนุภาคอิเล็กตรอนพลังงานสูงในการตรวจสอบวัตถุแทนแสงธรรมดา เพื่อทดสอบปริสิทธิภาพระดับนาโน

เครื่อง Atomic Force Microscopy (AFM) คือ กล้องจุลทรรศน์แรงอะตอมเพื่อใช้วิเคราะห์    พื้นผิว การกระจายตัวของสารต่างๆ เป็นต้น 

อีกทั้งยังมีกล้อง Confocal laser scanning microscope คือกล้องที่เป็นการใช้แสงเลเซอร์ในการสแกนแบบทีละจุดโดยใช้จุดโฟกัสของลำแสงเลเซอร์เพื่อให้ได้ภาพ 3 มิติ และสามารถนำมาใช้ในงานวิจัยได้ตั้งแต่ชีววิทยาระดับเซลล์, ยีน หรือ ชีววิทยาระดับไมโคร เพื่อความชัดเจนและแม่นยำในการทำการทดลอง  

อีกส่วนคือคอสเมติกส์ ที่วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและฮาลาล โดยมีเครื่องมือ Cutometer เพื่อตรวจวัดความชุ่มชื้น ยืดหยุ่น และความแข็งแรงของผิวหนัง สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และมีเครื่องมือที่ใช้สำหรับการผลิตเครื่องสำอางที่ทันสมัยและปลอดภัย เพื่อการพัฒนานวัตกรรมทางด้านนาโนวิทยา สมัยเพื่อความก้าวหน้าระดับโลก  ต่อไป


3. ห้องปฏิบัติการวิจัยชีววิทยาโมเลกุล

ห้องปฏิบัติการวิจัยวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่นำสมัยด้วยเทคโนโลยีฐานข้อมูลชีวโมเลกุลขั้นสูง ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคนิคตรวจสอบหาชีวโมเลกุลของสิ่งต้องห้ามตามหลักการศาสนบัญญัติอิสลามในอาหารฮาลาล ได้แก่

เครื่องมือ Ion Torrent Personal Genome Machine (PGM) เป็นเทคโนโลยีวิเคราะห์ลำดับเบสดีเอ็นเอยุคใหม่ (Next Generation Sequencing; NGS) ที่สามารถอ่านทั้งจีโนมของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะระบุสายพันธุ์เนื้อสัตว์ในอาหารได้ทุกชนิดในฐานข้อมูลชีวโมเลกุลในเวลาเดียวกัน เทคนิคนี้ถือเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงทางด้านชีวโมเลกุล อีกทั้งปัจจุบันยังสามารถประยุกต์ใช้ในงานด้านเภสัชวิทยา และการวินิจฉัยโรคในทางการแพทย์อีกด้วย

เครื่องมือ Digital Droplet PCR เป็นเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ในการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่พอลิเมอเรส ที่สามารถวัดปริมาณตั้งต้น ของสารพันธุกรรมสัตว์ที่ปนเปื้อนในปฏิกิริยาได้แบบ absolute quantification และวัดได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยสารมาตรฐานมาเปรียบเทียบ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เทคนิคนี้ประยุกต์ใช้ในการพัฒนาวิธีตรวจสอบการปนเปื้อนดีเอ็นเอสัตว์หะรอมในอาหารได้แม่นยำขึ้น

นอกจากนี้ยังดำเนินงานวิจัยด้านเพาะเลี้ยงเซลล์และเซลล์แบคทีเรีย เพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมและฮาลาลใหม่ๆ จากงานวิจัยด้านนาโนวิทยาและคอสเมติกส์


ตัวอย่างงานบริการวิชาการและวิจัย

Message us