
จากการที่ประเทศมาเลเซียมีเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางฮาลาลโลกอันมีมูลค่าการตลาดในปี พ.ศ.2553 สูงถึง 2.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ครอบคลุมตั้งแต่อาหาร สิ่งที่มิใช่อาหาร เช่น ยา เคมีภัณฑ์ เครื่องอุปโภค เครื่องนุ่งห่ม และบริการเช่น การท่องเที่ยว การแพทย์ การเงินธนาคาร เฉพาะส่วนของอาหารมีมูลค่าสูงถึง 680,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รัฐบาลมาเลเซียจึงจัดสัปดาห์ฮาลาล (Halal Week) ขึ้นทุกปีเชิญชวนผู้ที่เกี่ยวข้องจากทั่วโลกทั้งนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม นักวิชาการ นักการศาสนาหลั่งไหลเข้าสู่มาเลเซีย
สำหรับปีนี้สัปดาห์ฮาลาลของมาเลเซียจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2554 โดยมีงานการประชุมและงานแสดงสินค้าฮาลาลระดับนานาชาติอย่างน้อย 4 งานจัดขึ้นทั่วกรุงกัวลาลัมเปอร์ หนึ่งในนั้นคืองาน World Halal Research Summit 2011 อันเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลครั้งที่ 4 ณ Kuala Lumpur Convention Centre จัดโดย Halal Industry Development Corporation (HDC) ของรัฐบาลมาเลเซีย งานนี้มีนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ นักอุตสาหกรรมประมาณพันคนจาก 26 ประเทศเข้าร่วม ในงานดังกล่าวนอกจากการบรรยายโดยนักวิชาการสาขาต่างๆ ได้แก่ นาโนเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ โภชนาการ แล้วยังมีการประกวดผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์ฮาลาลระดับนานาชาติ รางวัล World Halal Research Excellence มีทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยและหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลจากประเทศต่างๆ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไนดารุสลาม ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอัฟริกาใต้ ปากีสถาน ประเทศไทย ฯลฯ ส่งผลงานเข้าร่วมจำนวน 57 ชิ้นงาน ในจำนวนนี้ผลงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล ร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ จำนวน 4 ชิ้นได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย 2 ชิ้น ผลการประกาศรางวัลในวันที่ 7 เมษายน 2554 ปรากฏว่าในบรรดาผลงานวิจัยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย 10 ชิ้น งานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์คว้ารางวัลชนะเลิศ พ่วงด้วยรางวัลที่ 3 มาครอง การแจกรางวัลทำโดยดาโต๊ะสรีอับดุลลา บินหะยีอาหมัด บาดาวี ซึ่งได้รับการยอมรับในประเทศมาเลเซียว่าเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นผู้ริเริ่มผลักดันโครงการสร้างประเทศมาเลเซียให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลโลก ทำให้มาเลเซียก้าวหน้าทางด้านนี้มาจนปัจจุบัน
งานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นผลงานการวางระบบฮาลาลในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารทะเลโดยระบบ HAL-Q ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลพัฒนาขึ้น ระบบดังกล่าวเป็นระบบบูรณาการระบบฮาลาลสากลเข้ากับระบบมาตรฐานอุตสาหกรรม HACCP ควบคู่กับการตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลและการชำระล้างด้วยดินสบู่อันเป็นผลงานวิจัยของศูนย์ฯ งานวิจัยดังกล่าวทำใน 14 โรงงานที่ได้รับการรับรองฮาลาลเปรียบเทียบกับ 11 โรงงานที่ไม่ได้รับการรับรอง การตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลพบการปนเปื้อนสิ่งต้องห้ามในวัตถุดิบบางชนิดจากผลิตภัณฑ์ทั้งสองกลุ่ม เมื่อวางระบบ HAL-Q ซึ่ง ใช้เวลา 5 เดือนปรากฏว่าโรงงานทั้งสองกลุ่มสามารถผลิตอาหารฮาลาลอย่างถูกต้องปราศจากการปนเปื้อน เป็นผลงานที่แสดงถึงคุณภาพของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทย ปัจจุบันมีโรงงานทั่วประเทศผ่านการวางระบบ HAL-Q จำนวน 157 โรงงานครอบคลุมคนงาน 1.1 แสนคน ส่วนรางวัลที่ 3 เป็นผลงานของศูนย์ฯร่วมกับคณะสหเวชศาสตร์ว่าด้วยการศึกษาพารามิเตอร์ทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ที่ใช้ตรวจสอบสัตว์ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างขาดมนุษยธรรมก่อนการเชือด แสดงถึงความห่วงใยด้านสวัสดิการสัตว์ของประเทศไทย
รางวัลทั้งสองแสดงให้สังคมฮาลาลนานาชาติเห็นว่าในขณะที่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมฮาลาลก้าวขึ้นมาเป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่บ่งชี้ประสิทธิภาพการแข่งขันของแต่ละประเทศในตลาดการค้าฮาลาลโลก ประเทศไทยโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลแห่งแรกในโลก และคณะสหเวชศาสตร์ได้แสดงให้วงการวิทยาศาสตร์ฮาลาลนานาชาติได้ประจักษ์ถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลของประเทศไทย เป็นการรักษาฐานะการนำทางวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลไว้ตามสโลแกน “Halal Science Thailand Signature” ไว้ได้อีกครั้งหนึ่ง



